สงคราม งามยิ่ง

ครูศิลป์ของแผ่นดิน 2562

สงคราม งามยิ่ง(จังหวัดขอนแก่น)

ครูศิลป์ของแผ่นดิน | ประเภทเครื่องทอ (ผ้าไหมมัดหมี่)

"ผมไม่อยากให้การทอผ้าซึ่งถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่บรรพบุรุษของเราได้คิดค้นและสืบทอดมาเป็นร้อยๆ

ปีต้องสูญหายไป จึงพยายามอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ โดยการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจ ในทุกกระบวน

การตั้งแต่ต้นจนจบที่สำคัญต้องทำอาชีพนี้ ด้วยใจรัก อดทน และมุ่งมั่น จึงจะสามารถทำให้

การทอผ้าไหมมัดหมี่ออกมาเป็นผลงานที่ดีที่สุด "







"ผ้าไหมมัดหมี่" เป็นผ้าทอมือที่มีอกลักษณ์ในด้านลวดลายและสีสัน นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย

ในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่สำคัญ

และมีชื่อเสียง โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ลวดลายที่เกิดจากการ "มัดหมี่" ที่นำมาทอจนเป็นผืนผ้า



"ผ้าไหมมัดหมี่" ที่มีเนื้อผ้าแน่น สม่ำเสมอ มีลักษณะสีและลวดลายของผ้าที่เล็ก ละเอียด และ

มีความสวยงามแตกต่างจากผ้าไหมมัดหมี่แหล่งสำคัญอื่นๆ ถือเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

และเป็นแหล่งทอผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ที่ถูกสืบทอดด้วยช่างทอในท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น

มานานนับ 200 ปี











การอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญา

นายสงคราม งามยิ่ง เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรที่มีการทอผ้าไว้ใช้เองในครอบครัวในช่วงหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ในขณะที่นายสงครามอายุได้เพียง 3 ปี คุณพ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้เสียชีวิตลง ส่งผลให้ครอบครัวมีความยากลำบากนายสงคราม จึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือและต้องช่วยแม่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเรื่อยมาอำเภอชนบทที่นายสงครามอาศัยอยู่นั้น เป็นแหล่งหัตถกรรมทอผ้าไหมมัดหมี่ที่ขึ้นชื่อประจำจังหวัดขอนแก่น เมื่อนายสงครามอายุได้ 13 ปี ได้เล็งเห็นช่องทางในการสร้างรายได้ จึงชักชวนพี่สาวและน้องสาวไปรับจ้างทอผ้าที่โรงทอไหมไทย ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกการทอผ้าไหมที่โด่งดังในอดีต นายสงครามจึงได้เรียนรู้พื้นฐาน "การทอผ้าไหม และการทอผ้ามัดหมี่" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อสั่งสมประสบการณ์การทอผ้าไหมและผ้ามัดหมี่ได้ระยะหนึ่ง จึงเกิดความชื่นชอบในการทอผ้าไหม และด้วยใจรักประกอบกับทักษะความชำนาญในฝีมือ จึงได้ยึดการทอผ้าไหมอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมาต่อมานายสงครามได้กลายเป็นช่างทอผ้าไหมมัดหมี่ที่มีชื่อเสียงและฝีมือได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในอำเภอชนบท เนื่องจากความสามารถในการมัดหมี่ที่หาคนเทียบเคียงได้ยากนักอีกทั้งยังเชี่ยวชาญในการย้อมสีเส้นไหม ตลอดจนการทอเป็นผืนผ้า แม้ในระยะหลังด้วยวัยที่มากขึ้นทำให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพและสายตา ทำให้ไม่ได้นั่งหน้ากี่ลงมือทอด้วยตนเองก็ตาม แต่นายสงครามยังทำการควบคุมช่างมัดหมี่และช่างทอผ้าอย่างเข้มงวด เพื่อคงคุณภาพและชื่อเสียงการทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ให้ได้นายสงครามยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ผ้าไหมมัดหมี่แบบโบราณอย่าง "ผ้าหน้านาง" ที่เหลือ

ผู้ทอน้อยรายแล้วในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และรักษาภูมิปัญญาให้คงอยู่ จึงนับได้ว่านายสงครามเป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนางานผ้าไหมมัดหมี่อย่างต่อเนื่องจวบจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 50 ปี


ภูมิปัญญาที่สะท้อนทักษะฝีมือเชิงช่าง

มัดหมี่ เป็นการใช้ภูมิปัญญาในการสร้างลวดลายให้เกิดบนผืนผ้าแบบหนึ่ง เกิดจากการมัดเส้นไหม

ที่จะนำไปใช้ในการทอเป็นผืนผ้า โดยมัดเส้นไหมห้เป็นเปลาะๆ ตามลวดลายที่กำหนดไว้ให้แน่น

ด้วยวัสดุต่างๆ ตามแต่ละท้องถิ่นนิยมใช้หรือหาได้ซึ่งในปัจจุบันนิยมมัดด้วยเชือกพลาสติกเพื่อปิดกั้น

ไม่ให้เส้นด้ายที่มัดลายไว้สัมผัสกับย้อม เมื่อมัดลายแล้วจึงนำเส้นไหมไปย้อมสี หากต้องการให้

ลวดลายมีหลายสีก็ต้องมัดและย้อมสีทับกันหลายครั้งเพื่อให้ได้สีสันตามที่ต้องการหลังจากนั้นนำเส้นด้าย

ไปผ่านกระบวนการเตรียมเส้นเพื่อใช้ทอเป็นผืนผ้า และเมื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าที่สำเร็จแล้วจะเกิดเป็นผ้า

อันงดงามในนาม"ผ้าไหมมัดหมี่"


นายสงคราม ได้สืบต่อภูมิปัญญาที่สะท้อนฝีมือเชิงช่างด้านการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่สร้างสรรค์

ลวดลายเล็ก ละเอียด เป็นลวดลายเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา เช่น ลายกง ลายโคม ลายหมากจับ ลายปลาชิว

ลายดอกแก้วน้อย ส่วนลวดลายดั้งเดิม (ขนาดกลาง) เช่น ลายแมงมุม ลายกนกเชิงเทียน ลายขอพระเทพ

ลายขันหมากเบ็ง ลายต้นสน ลายขาเปียน้อย ลายตำลึงเครือ และลวดลายดั้งเดิม (ขนาดใหญ่) เช่น

ลายนาคเกี้ยว ลายขอเกี้ยว ลายสำเภาหลงเกาะ ลายต้นสนใหญ่ ลายนกยูง เป็นต้น