ประวัติความเป็นมา


ความเป็นมา


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา

จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546

และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(1 พฤศจิกายน 2546) จึงถือกำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา ศ.ศ.ป. และให้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า

The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization)

เรียกโดยย่อว่า “SACICT" (อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาไทย)

 

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง

ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง ศ.ศ.ป. พ.ศ. 2546 มาตรา 7 กำหนดให้ศูนย์มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

เหตุผลในการจัดตั้ง ศ.ศ.ป.

ในตอนท้ายของพระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง ศ.ศ.ป. พ.ศ. 2546 ได้ให้เหตุผลในการจัดตั้ง ศ.ศ.ป.ไว้ดังนี้ “โดยที่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือ ซึ่งมีคุณค่าและมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยโดยเฉพาะ สมควรที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จะประสานความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และจัดระบบการบริหารงานให้สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ คล่องตัว เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ


 

รูปแบบการบริหาร

ศ.ศ.ป. เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีการบริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 มีคณะกรรมการบริหารทำหน้าที่ควบคุมดูแลศูนย์ให้ดำเนินการกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ศ.ศ.ป. และมีผู้อำนวยการทำหน้าที่บริหารกิจการของศูนย์ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง

 


วิสัยทัศน์ สศท. ปี 2563-2566

 “สืบสาน รักษา และนำคุณค่าแห่งศิลปาชีพ

อันเป็นคุณค่าแห่งความเป็นไทย ให้ก้าวไกลเป็นที่ยอมรับในเวทีหัตถกรรมโลก

เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และความยั่งยืนของชุมชน”


บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

  • ดำเนินการบริหารจัดการให้มีการแสดง การประกวด หรือจำหน่ายศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ การพัฒนารูปแบบ และการบรรจุผลิตภัณฑ์
  • ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
  • ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างอุตสาหกรรมการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนผสมผสานหรือประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • พัฒนาฝึกอบรมการบริหาร จัดการ การผลิต การบริหารงานบุคคล การเงิน และการตลาด
  • ดำเนินการสนับสนุนด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ


ค่านิยมองค์กร

S Synergy เสริมพลังสร้างคุณค่า

A Accountability จิตสำนึกในความรับผิดชอบ

C Creativity  มีความคิดสร้างสรรค์

I Integrity ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม

C Care ใส่ใจ ห่วงใย

T Teamwork ทีมประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

  

พันธกิจ สศท. ปี 2563-2566

 เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประกอบอาชีพเพื่อสร้างงานศิลปาชีพและสนับสนุนด้านการตลาดให้กับงานศิลปาชีพตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีหน้าที่ ดังนี้

(1) การรวบรวมองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ พระราชกรณียกิจงานศิลปาชีพ โดยให้มีการศึกษา รวบรวมจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปาชีพและสมาชิกศิลปาชีพ เผยแพร่ จัดแสดง จัดประกวด เพื่อให้เป็นที่รู้จัก และสืบสานไว้ซึ่งคุณค่าแห่งงานศิลปาชีพ

(2) การส่งเสริมการพัฒนาด้านกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาด

(3) การส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาดงานศิลปาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(4) การส่งเสริมการเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การจำหน่าย การประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนางานศิลปาชีพ

(5) การถ่ายทอดความรู้ พัฒนาฝึกอบรมการบริหาร จัดการ ทักษะการผลิต การบริหารงานบุคคล การเงิน และการตลาดให้กับช่างศิลปาชีพและสมาชิกศิลปาชีพ

(6) ดำเนินการสนับสนุนด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ


เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์

(1) เพื่อให้มีการอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดงานศิลปาชีพไปสู่คนรุ่นใหม่

(2) เพื่อให้งานศิลปาชีพเป็นงานศิลปหัตถกรรมหลักของไทยที่จะเป็นที่รู้จักในระดับสากล นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมโลก

(3) เพื่อให้งานศิลปาชีพสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางภูมิปัญญา ความภาคภูมิใจของผู้สร้างสรรค์งานอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน

(4) เพื่อให้ ศ.ศ.ป. เป็นองค์การมหาชนที่มีการบริหารที่เป็นเลิศ มีความทันสมัยและมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ